ภาคอุตสาหกรรมไทย

ภาพรวมภาคอุตสาหกรรมปี 2559

การผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วง 9 เดือนแรก ของปี 2559 ขยายตัวได้ที่ร้อยละ  0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.0 โดยภาคอุตสาหกรรมในปี 2559 ยังคงเผชิญกับภาวะการส่งออกที่หดตัวจากการฟื้นตัวที่ยังไม่สม่ำเสมอของเศรษฐกิจแกนหลักของโลก ประกอบกับเศรษฐกิจจีนที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ด้านกำลังซื้อภายในประเทศของภาคครัวเรือนซบเซาลง โดยเฉพาะการใช้จ่ายของครัวเรือนในภาคเกษตรที่มีปัจจัยบั่นทอนจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและปัญหาภัยแล้งในช่วงครึ่งแรกของปี อย่างไรก็ตาม ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและภัยแล้ง ได้เริ่มคลี่คลายลงตามลำดับเมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2559 ยิ่งไปกว่านั้น การลงทุนภาคเอกชนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 เติบโตได้ในอัตราร้อยละ  0.6 จากที่หดตัวร้อยละ -3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการลงทุนภาคเอกชนเร่งตัวขึ้นตามการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐ ประกอบกับมีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนแรก 1,302 โครงการ แม้จำนวนโครงการจะลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนแต่มีมูลค่าเงินลงทุน 675,620 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.0

ในช่วง 9 เดือนของปี 2559 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.06 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีขยายตัว ได้แก่ การผลิตเครื่องปรับอากาศ, การผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้อง, และการผลิตสตาร์ชและผลิตภัณฑ์จากสตาร์ช ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 0.7

ดัชนี ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 86.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 84.8 ในเดือนกันยายน ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลที่มีคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับเทศกาลในช่วงสิ้นปี ทั้งจากผู้บริโภคภายในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะคู่ค้าสำคัญจากประเทศจีน ญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐฯ ทำให้การผลิตเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันผู้ผลิตที่เป็นกลุ่มตัวอย่างได้มีการออกแบบและปรับปรุงคุณภาพสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงปลายปี ทำให้มียอดขายโดยรวมเพิ่มขึ้น

 

แนวโน้มอุตสาหกรรมปี 2560

ทิศทางของภาคอุตสาหกรรมในปี 2560 คาดว่าน่าจะมีแรงส่งที่ดีขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่น่าจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากปี 2559 นำโดยการลงทุนภาครัฐ และภาคการท่องเที่ยว ด้านอุปสงค์ภายในประเทศนั้น การบริโภคและการใช้จ่ายภาคเอกชนคาดว่าจะเร่งขึ้นจากรายได้ของเกษตรกรที่ปรับดีขึ้นจากผลของราคาสินค้าเกษตรที่กลับมามีทิศทางขยายตัวได้อีกครั้ง ประกอบกับภาครัฐน่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนการลงทุนภาคเอกชน จะสามารถเติบโตได้ตามการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่เม็ดเงินลงทุนจะสามารถเข้าสู่ระบบได้มากยิ่งขึ้นในปี 2560 รวมถึง การสนับสนุนการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย, การส่งเสริมการลงทุนภายใต้แผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (ECC), การส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับประเทศเข้าสู่ “ประเทศไทย 4.0” ขณะที่อุปสงค์จากต่างประเทศ มีความเป็นไปได้ว่าจะสามารถขยายตัวได้ดีกว่าในปี 2559 จากการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งขึ้นของภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลก นำโดยการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นภายหลังจากการเลือกตั้ง และอีกปัจจัยที่คาดว่าจะสนับสนุนความต้องการสินค้าในภาคอุตสาหกรรมก็คือ การท่องเที่ยวในปี 2560 ที่ยังขยายตัวได้ดี โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ตั้งเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2560 ไว้ที่ 2.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีเป้าหมายรายได้ 2.4 ล้านบาท ซึ่งจะมีการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง เช่น มาตราการยกเว้นค่าทำเนียมการตรวจลงตรา (วีซ่า) ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ 1,000 บาทต่อคนเป็นการชั่วคราวที่จะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวได้, การจัดรูปแบบกิจกรรมรื่นเริงต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และเข้ากับบรรยากาศของประเทศ เป็นต้น

 

ด้านปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องในปี 2560 ประกอบด้วย แนวโน้มการค้าโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายด้านการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีคนใหม่ที่มีแนวโน้มกีดกันการค้า, การขอแยกตัวของสหราชอาณาจักรจากสหภาพยุโรป (Brexit), การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ที่อาจไม่เป็นไปตามคาดหมาย, ความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนจากความแตกต่างขอนโยบายการเงิน การคลัง ในประเทศเศรษฐกิจแกนหลักของโลก รวมทั้งแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นต้น

 

 

ทิศทางอุตสาหกรรมสำคัญในปี 2560

อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง

•              คาดว่าจะได้รับอานิสงค์จากลงทุนภาครัฐฯ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2559 (Action Plan) จำนวน 20 โครงการ วงเงิน 1,410,763.35 ล้านบาท รวมถึง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ในตลาดต่างจังหวัดโดยเฉพาะที่เป็นประตูการค้าชายแดนเพื่อรองรับการเติบโตของเมืองชายแดน

•              โอกาสสำหรับการส่งออกวัสดุก่อสร้างไปยังประเทศ CLMV ที่มีชายแดนติดกับไทย จากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ในระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของรัฐบาลประเทศนั้นๆ ซึ่งส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างของไทยที่จะมีโอกาสเติบโตไปพร้อมๆ กับการขยายตัวของเมืองในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน

•              ปัจจัยเสี่ยง : การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่อาจล่าช้ากว่ากำหนดและหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงอาจกระทบต่ออุปสงค์ในภาคที่อยู่อาศัย

อุตสาหกรรมอาหาร

•              แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารคาดว่าจะได้รับอานิสงค์ที่ดีจากผลผลิตทางการเกษตรที่ผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ทิศทางการบริโภคภายในปะเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว

•              น่าจะมีการเติบโตตามการส่งเสริมการลงทุน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) โดยเฉพาะกลุ่มอาหารแห่งอนาคตหรือการแปรรูปอาหาร

•              ภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ย่อมก่อให้เกิดอุปสงค์ต่อสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น

•              ปัจจัยเสี่ยง : ผู้ประกอบการ SMEs เผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงของผู้ผลิตขนาดใหญ่, การขาดแคลนวัตถุดิบ

อุตสาหกรรมยานยนต์

•              ในช่วง 10 เดือนของปี 2559 (ม.ค.-ต.ค.59) มียอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 1,003,918 คัน ลดลงร้อยละ 1.25 จากระยะเวลาเดียวกันในปีก่อน มูลค่าการส่งออก 534,366.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.72 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

•              โดยจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือน ม.ค.-ต.ค.59 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,637,841 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.55 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค.59 ตลาดรถยนต์ในประเทศมียอดขาย 617,159 คัน ลดลงร้อยละ 0.7 จากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน

•              ยอดการผลิตรถยนต์ในปี 2559 จะได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 2 ล้านคัน ส่วนยอดส่งออกรถยนต์ในปีนี้คาดว่าจะได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 1.22 ล้านคันเช่นกัน

•              ในปี 2560 คาดว่าการส่งออกรถยนต์จะอยู่ที่ 1.22 ล้านคัน ส่วนยอดขายรถยนต์ในประเทศจะเพิ่มเป็น 7.8 แสนคัน

•              อย่างไรก็ตาม คาดว่ายอดขายภายในประเทศปี 2560 จะเพิ่มสูงกว่าปี 2559 เนื่องจากรถยนต์ในโครงการรถคันแรงจะครบอายุการถือครอง 5 ปี ในช่วงกลางปี 2560 ซึ่งคาดว่าจะมียอดซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นประมาณ 1-2 หมื่นคัน และจะค่อยๆ ทยอยเพิ่มขึ้นตามมาอีกมาก เพราะรถยนต์ในโครงการรถคันแรกมีกว่า 1.25 ล้านคัน และในจำนวนนี้คาดว่าจะเปลี่ยนรถรุ่นใหม่ร้อยละ 10-20 หรือประมาณ 1.25 – 2.5 แสนคัน

•              ปัจจัยเสี่ยง : ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ, หนี้ครัวเรือนสูง, สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

•              ตลาดในประเทศปี 2560 คาดว่า ยอดขายจะดีขึ้น จากการขยายตัวของคอนโดมิเนียม และที่อยู่อาศัยทำให้มียอดการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนที่มีการทยอยปรับตัวดีขึ้นตามรายได้เกษตรกรที่กลับมาฟื้นตัว ซึ่งคาดว่าจะช่วยสร้างอุปสงค์ในสินค้าคงทนอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ได้ รวมทั้งการรองรับการขยายการลงทุนในกลุ่ม อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกสอัจฉริยะ (Smart Electronics) ตามการส่งเสริมการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย (New Growth Engine)

•              การส่งออกในปี 2560 คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2559 จากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว โดยเฉพาะ ตลาดสหรัฐฯ และตลาดอาเซียน ที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะการขยายตัวที่ดีในตลาดหลัก ในสินค้าเครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า IC HDD เป็นต้น

•              ปัจจัยเสี่ยง : การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ที่ยังไม่แน่นอน, การแข่งขันจากสินค้าของมาเลเซียและเวียดนาม, ความผันผวนของตลาดที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

•              อุตสาหกรรมสิ่งทอในปี 2560 คาดว่า ตลาดในประเทศน่าจะได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ประกอบกับความต้องการเสื้อผ้าสีดำที่ขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 2559 การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เป็นต้น ส่วนแนวโน้มการส่งออก คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลกที่น่าจะฟื้นตัวได้แข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน ประกอบกับการส่งออกผ้าผืนไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่ขยายตัวได้ดี รวมถึงผู้ประกอบการมีการปรับปรุงคุณภาพของผ้าผืนให้มีคุณภาพดีขึ้น และสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น

•              ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (การ์เม้นท์) ปี 2559 ปรับตัวดีขึ้นเป็นบวกในรอบ 2 ปี ซึ่งภาพรวมทั้งปีนี้คาดว่าจะติดลบน้อยลงอยู่ที่ร้อยละ 1 - 2 มีมูลค่าประมาณ 2,500 - 2,550 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากเดิมที่ติดลบประมาณร้อยละ 7 - 11 นอกจากนี้ จะได้รับอานิสงส์จากการส่งออกของนักลงทุนไทยกว่า 35 โรงงาน ที่ไปขยายฐานการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV และอินโดนีเซีย เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ และผลิตส่งออกไปยังประเทศที่ 3 โดยเฉพาะตลาดหลักในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป มีมูลค่าการส่งออกในกลุ่มนี้กว่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

•              ปี 2560 อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยยังมีแนวโน้มที่จะหันไปลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเวียดนาม โอกาสการส่งออกจะเติบโตระดับร้อยละ 2-3 หากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญและเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยภายในปี 2559 จะทำให้เงินทุนไหลออกอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงและเป็นปัจจัยให้การส่งออกเพิ่มขึ้นได้ ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจจีนแม้จะไม่เติบโต แต่ก็คาดว่าจะหยุดการชะลอตัวลงทำให้ภาพรวมจีนทรงตัวเช่นเดียวกับญี่ปุ่น ส่วนสหภาพยุโรป (อียู) ยังต้องติดตามความชัดเจนกรณีอังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกอียู (Brexit) อีกครั้ง

•              ปัจจัยเสี่ยง : จีนและไต้หวันเข้าไปลงทุนในสิ่งทอต้นน้ำในเวียดนาม อาจทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยลดลง โดยเฉพาะสินค้าเส้นด้าย ผ้าผืน เป็นต้น

อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก

•              คาดว่าจะขยายตัวได้ความต้องการภายในประเทศจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่าง วัสดุก่อสร้าง,อาหารและเครื่องดื่ม, ยานยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง

•              การขยายตัวของตลาดอาเซียนและการค้าชายแดน จะทำให้มีความต้องการในสินค้าผลิตภัณฑ์พลาสติกของไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความต้องการของกลุ่มประเทศ CLMV เนื่องจากสินค้าไทยมีคุณภาพจึงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในแถบประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกไปยังสหรัฐฯ น่าจะฟื้นตัวดีขึ้น ตามการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นภายหลังจากการเลือกตั้งแล้ว

•              ปัจจัยเสี่ยง : เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีทิศทางการฟื้นตัวยังไม่แน่นอน รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน (ผลิตภัณฑ์พลาสติกมีสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นค่อนข้างสูงเป็นอันดับต้นๆ)

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

•              คาดว่าปริมาณการใช้ในประเทศจะขยายตัวตามการใช้จ่ายและโครงการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ก่อสร้าง และเครื่องสำอาง ส่วนตลาดส่งออกน่าจะรักษาระดับการขยายตัวได้ต่อเนื่อง เพราะสินค้าไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาด

•              ปัจจัยเสี่ยง : ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาของประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะชะลอตัวเพราะไทยมีสัดส่วนการส่งออกเคมีภัณฑ์ไปยังจีนสูง

 

อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์

•              ในปี 2559 สถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังมีการขยายตัวดี เช่น คอนโดมิเนียมที่ขายพร้อมเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งถือเป็นอัตราที่ขยายตัวต่อเนื่องทุกปี สำหรับสถานการณ์ส่งออกเฟอร์นิเจอร์ปีนี้ยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควรเพราะเศรษฐกิจโลกไม่ดีฉุดกำลังซื้อของตลาดต่างประเทศ

•              แนวโน้มและทิศทางอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ในปี 2560 ตลาดในประเทศ คาดว่า จะเติบโตตามการขยายตัวของโครงการคอนโดมิเนียมและอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ตามแนวรถไฟฟ้าสายต่างๆ ส่วนตลาดต่างประเทศ มีแนวโน้มส่งออกไปยังตลาดเพื่อนบ้านกลุ่มประเทศ CLMV มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ จากเดิมที่เน้นตลาดสหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งในการปรับสัดส่วนตลาดมายังกลุ่มอาเซียน จำเป็นต้องมีการปรับผลิตภัณฑ์ให้มีขนาดเหมาะสมกับรูปร่างของคนเอเชีย ซึ่งอาจจะเล็กกว่าที่ส่งออกไปยุโรป ส่วนเฟอร์นิเจอร์กลุ่มเครื่องใช้ในบ้านซึ่งจะมีแฝงความเป็นวัฒนธรรม อาจจะต้องปรับสีสัน และดีไซน์ให้สอดรับความต้องการลูกค้า แต่กลุ่มเฟอร์นิเจอร์สำนักงานจะไม่เน้นเรื่องวัฒนธรรมมากนัก

•              ในปี 2560 ยังคาดการณ์ว่า สินค้าสำคัญที่ขยายตัวคือ กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ไม้ เหล็ก และกลุ่มเครื่องนอน และตลาดใหม่อย่างประเทศเมียนมา ถือเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อดี เพียงแต่กฎระเบียบของประเทศเมียนมายังไม่เอื้ออำนวยมากนัก สำหรับช่องทางการตลาดจะเป็นการขายตรง และเน้นการทำแบรนด์และผลิตสินค้าที่มีดีไซน์มากขึ้น โดยมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าระดับ B ลงมา

•              ปัจจัยเสี่ยง : ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยทั้งด้านต้นทุนแรงงาน ราคาวัตถุดิบ, ในปี 2560 สหภาพยุโรป (อียู) จะออกกฎระเบียบ เพื่อตรวจสอบที่มาของไม้ที่นำมาใช้ในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ โดยรายละเอียดระบุไม่ให้ใช้ไม้ที่มาจากการบุกรุกป่า

อุตสาหกรรมปิโตรเคมี

•              อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัวได้ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและการเติบโตของอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ยานยนต์ บรรจุภัณฑ์พลาสติก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เป็นต้น ด้านการส่งออก คาดว่า ขยายตัวได้ตามการเติบโตของกลุ่มประทศ อาเซียน และ CLMV

•              อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีพัฒนาการตามการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายของภาครัฐ โดยผู้ผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้พัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีความหลากหลาย มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

•              ปัจจัยเสี่ยง : ความต้องการสินค้าที่มีจำกัดจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร, กลุ่มประเทศในตะวันออกกลางมีการผลิตพลาสติกสำเร็จรูปเพื่อเข้ามาตีตลาดในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง

•              แนวโน้มในปี 2560 อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง คาดว่าจะมีแนวโน้มทรงตัวต่อเนื่องจากปี 2559 ซึ่งมีแรงหนุนจากยอดขายในกลุ่มลูกค้าแถบประเทศ CLMV โดยมักจะเป็นสินค้าระดับกลางค่อนไปทางล่าง ซึ่งมีแนวโน้มที่ดี ส่วนการส่งออกหนังฟอกเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้าของ จีน ฮ่องกง และเวียดนาม คาดว่า จะยังมีความต้องการต่อเนื่อง อีกทั้งทิศทางค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงน่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกในกลุ่มสินค้าหนังและผลิตภัณฑ์หนัง

•              สำหรับตลาดในประเทศ หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด คาดว่าจะขยายตัวได้จากการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่าง ยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ รวมทั้ง จำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง น่าจะส่งผลให้เครื่องหนังประเภทกระเป๋าและรองเท้ามียอดขายเพิ่มขึ้นได้อย่างช้าๆ

•              อุตสาหกรรมรองเท้าปี 2559 จะเติบโตระดับร้อยละ 0 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับภาวะการส่งออกที่อุตสาหกรรมรองเท้าไทยต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่สูง และส่วนหนึ่งเกิดจากการมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านในช่วงที่ผ่านมา

•              แนวโน้มอุตสาหกรรมรองเท้าในปี 2560 คาดหวังว่าจะมีการเติบโตขึ้น โดยมีปัจจัยหลายอย่างที่จะเป็นด้านบวก ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่น่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัว รวมถึงแรงซื้อในไทยที่คาดว่าจะดีกว่าปีนี้จากระดับราคาสินค้าเกษตรที่เริ่มปรับตัวสูงตามทิศทางน้ำมัน และปัจจัยเรื่องของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP หากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีใหม่สหรัฐฯ มีการยกเลิกจริงจะเป็นผลดีสำหรับไทย เพราะก่อนหน้านี้ที่เวียดนามได้เข้าร่วม TPP มีส่วนสำคัญในการดึงการลงทุนเข้าไปยังเวียดนามมากขึ้นเพราะเวียดนามจะได้รับการยกเว้นภาษีในการส่งออกรองเท้าไปยังตลาดสหรัฐฯ

•              ปัจจัยเสี่ยง การขาดแคลนแรงงานฝีมือ, ต้นทุนแรงงานที่สูง, ภาวะการแข่งขันที่สูง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน


เครดิต จาก บทวิเคราะห์กระแสหุ้นออนไลน์

Visitors: 140,698