ไทยขึ้นแท่นน้ำท่วมสูง ข้อมูลจาก environNET.in.th

วันศุกร์ที่ 30 กรกฏาคม 2010 เวลา 13:42 น.

ไทยโพสต์ :

 

        น้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นหนึ่งในผลพวงจากภัยคุกคามของภาวะโลกร้อน ข้อมูลวิชาการบ่งชี้ชัดเจนว่า เรากำลังเผชิญอยู่กับปัญหาสำคัญนี้ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแผ่กระจายไปในพื้นที่ชายฝั่งเกือบทั่วประเทศ ความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน วิกฤติด้านการกัดเซาะชายฝั่ง

 

                     

 

ความเสียหายของบ้านเรือนริมชายฝั่งที่เพิ่มขึ้น คือกรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า เกิดผลกระทบอย่างไรต่อระบบนิเวศ และวิถีชีวิต ขณะที่ข่าวคราวของนักวิชาการที่ออกมาเตือนน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ จากภาวะโลกร้อน หรือกรุงเทพในอนาคตจะจมใต้บาดาล ก็สร้างความตื่นตระหนกให้กับคนที่อยู่อาศัยในเมืองกรุง

ในงานประชุมทางวิชาการ ครั้งที่ 48 ประจำปี 2553 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ จัดเสวนาเรื่อง "สภาวะโลกร้อน...ผลกระทบต่อประเทศไทยและทางออก" ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดย ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ภาควิชาธรณี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลของประเทศไทยและของโลก เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนยิ่งขึ้น

ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อธิบายว่า วิวัฒนาการเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเพื่อทำให้เกิดสมดุลของธรรมชาติ ซึ่งสิ่งที่เราพบเห็นในปัจจุบันเป็นผลผลิตจากกระบวนการที่ต่อเนื่องจากอดีตที่ผ่านมา เราไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตและอนาคตได้โดยปราศจากองค์ความรู้ กับการเปลี่ยนระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ในอดีตของประเทศไทย จากการที่ได้ตรวจสอบทางธรณีวิทยา พบว่า เมื่อ 1.5 แสนล้านปีที่แล้วสภาวะโลกร้อนเคยเกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล พื้นที่ที่เป็นประเทศไทยเคยมีระดับน้ำทะเลท่วมชายฝั่งจนถึงเขต จ.สิงห์บุรี และอ่างทอง จากนั้นโลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง และได้ทิ้งร่องรอยการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลไว้ในพื้นที่อ่าวไทย

นอกจากนี้ เมื่อ 6,000 ปีก่อน ยังมีหลักฐานบ่งชี้ว่า น้ำทะเลในอ่าวไทยเคยเหือดแห้งและมีน้ำท่วมถึงจังหวัดอยุธยา และอีกหลักฐานที่หาได้จากชั้นหิน บ่งบอกว่าชายฝั่งแม่น้ำท่าจีน เมื่อ 1.5 หมื่นปีที่แล้ว มีระดับน้ำทะเลขึ้นเร็วที่สุดประมาณ 16-26 มิลลิเมตรต่อปี เคยเกิดน้ำท่วมสูงกว่า 100 เมตร ส่งผลกระทบให้ทางน้ำเปลี่ยนแปลง มีน้ำทะเลรุกเข้ามาถึงอยุธยาและอ่างทอง ไม่ต้องพูดถึงกรุงเทพมหานครที่จมอยู่ใต้น้ำในยุคนั้น ซากหอยจำนวนมหาศาลที่ทับถมกัน ณ วัดเจดีย์หอย จ.ปทุมธานี เป็นหลักฐานแสดงถึงสภาพแวดล้อมดั้งเดิมได้ดี สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 6,000 ปีที่แล้ว คือ อุณหภูมิและระดับน้ำทะเลที่สูงกว่าปัจจุบันนี้ นี่คือ สภาพการณ์ที่เราไม่เคยเห็น เพราะช่วงอายุของมนุษย์สั้น ขณะที่วิวัฒนาการชายฝั่งมีกาลเวลากว่าล้านปี

สำหรับสภาพพื้นที่อ่าวไทยที่มีแม่น้ำสำคัญ 4 สายไหลลงสู่ทะเล ได้แก่ แม่น้ำแม่กลอง บางปะกง เจ้าพระยา และท่าจีน ศ.ดร.ธนวัฒน์ยังได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ในปัจจุบันจากการตรวจวัดระดับน้ำเฉลี่ยรายปีอย่างลึกซึ้ง และแสดงข้อมูลให้เห็นว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทุกขณะ

"เมื่อตรวจวัดสถานีปากแม่น้ำท่าจีน พบว่า ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 42 มิลลิเมตรต่อปี สถานีป้อมพระจุลจอมเกล้า 20.5 มิลลิเมตรต่อปี สถานีปากแม่น้ำเจ้าพระยา 15 มิลิเมตรต่อปี สถานีบางปะกง 4 มิลลิเมตรต่อปี ล้วนแต่เป็นตัวเลขที่สูงกว่าการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ในอดีตมาก" นักวิชาการจากจุฬาฯ กล่าว

และอธิบายถึงระดับน้ำทะเลในอดีตว่า เมื่อ 150 ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 1.2-1.8 มิลลิเมตรต่อปี แต่จากรายงานของไอพีซีซี ปี 2550 พบว่า ระดับน้ำทะเลของโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3 มิลลิเมตรต่อปีแล้ว ขณะที่ไทยตัวเลขจากรายงานของกรมทรัพยากรธรณีมีถึง 5.8 มิลลิเมตรต่อปี จากประเทศไทยมาสู่พื้นที่ชายฝั่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่มีการเก็บบันทึกการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลเอาไว้ เช่น มาเลเซีย 2.4 มิลลิเมตรต่อปี เวียดนาม 2.56 มิลลิเมตรต่อปี บังกลาเทศ 7.8 มิลลิเมตรต่อปี มัลดีฟส์ 4.1 มิลลิเมตรต่อปี

จากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยไปทั่ว โดยเฉพาะปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญแห่งการทำลายพื้นที่ ก่อปัญหา และสร้างความเดือดร้อนให้คนในชายฝั่งซ้ำแล้วซ้ำเล่า และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ

ศ.ดร.ธนวัฒน์เล่าถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นว่า พื้นที่อ่าวไทยตอนบน ตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกงถึงจังหวัดเพชรบุรี มีชายฝั่งยาวกว่า 120 กิโลเมตร ที่กำลังเผชิญปัญหากัดเซาะอย่างรุนแรง โดย 30 ปีที่ผ่านมา ที่ดินชายฝั่งทะเลของอ่าวไทยหายไป 18,000 ไร่ ยิ่งไปกว่านั้น การกัดเซาะไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะชายฝั่งเท่านั้น แต่กัดเซาะลึกลงไปที่พื้นผิวทะเลด้วย เราสูญเสียทุกวินาที พบว่า 30 ปีมานี้ แผ่นดินใต้ทะเลหายไปแล้วประมาณ 180,000 ไร่ นอกจากนั้น ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของไทยตลอด 2,600 กิโลเมตร ก็ถูกกัดเซาะไปแล้วถึง 600 กิโลเมตร ถือว่าผิดปกติมาก

และจากการสำรวจติดตามผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล พบว่า พื้นที่บางปู จ.สมุทรปราการ ในอดีตเมื่อระดับน้ำทะเลลงต่ำสุดมีหาดโคลน ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรให้คนชายฝั่ง โผล่พ้นน้ำยาวกว่า 5 กิโลเมตรจากชายฝั่ง ปัจจุบันเหลือเพียง 1 กิโลเมตร ส่วนที่บ้านขุนสมุทรจีน ก็มีการเปลี่ยนแปลงเดิมมี 2.5 กิโลเมตร ก็เหลือ 1 กิโลเมตร อีกแห่งพื้นที่มหาชัย เคยมีหาดโคลน 1 กิโลเมตร เหลือเพียง 250 เมตรเท่านั้น

"พื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล มีอัตราการกัดเซาะ 65 เมตรต่อปี ถ้าไม่มีมาตรการป้องกันใดๆ อีก 10 ปีข้างหน้า แผ่นดินจะหายไป 1.3 กิโลเมตร อีก 50 ปีข้างหน้า 2.3 กิโลเมตร และในอีก 100 ปีข้างหน้าประมาณ 6 กิโลเมตร

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์เปลี่ยนแปลงและมีแนวโน้มสูงขึ้น ศ.ดร.ธนวัฒน์สรุปให้ฟังว่า ปัญหาแผ่นดินทรุดของประเทศไทย มีส่วน 70-80% ที่ทำให้ระดับน้ำทะเลประเทศไทยสูงขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือบริเวณพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลปี 2527 พื้นที่กรุงเทพฯ มีอัตราการทรุดของแผ่นดินมากกว่า 10 เซนติเมตรต่อปี แต่เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการป้องกันต่างๆ ปัจจุบันนี้อัตราการทรุดประมาณ 1-4 เซนติเมตรต่อปี ถือเป็นข่าวดี ส่วนข่าวร้ายจุดศูนย์กลางของการทรุดตัวเปลี่ยนอยู่ใกล้พื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอยู่แล้ว ทุกวันนี้ผลกระทบปรากฏแล้ว ป้อมพระจุลฯ ตั้งอยู่บริเวณปากอ่าวไทย แผ่นดินทรุดไปแล้วราว 55 เซนติเมตร

ปัจจัยที่เหลือก็คือ อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นทำให้น้ำแข็ง และธารน้ำแข็งทั่วโลกละลายรวดเร็วกว่าในอดีต ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งมีการคำนวณแล้วว่ามีอัตราเฉลี่ยทั่วโลกประมาณ 3 มม./ปี นอกจากนี้ การก่อสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำ ซึ่งส่งผลให้ตะกอนไหลลงสู่พื้นที่ชายฝั่งน้อยลง เช่น เขื่อนเจ้าพระยา, เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์ หลังสร้างเขื่อนที่ต้นน้ำทำให้อัตราการงอกของแผ่นดินเหลือ 4.5 เมตรต่อปีเท่านั้น จากเดิมที่มีการงอก 60 เมตรต่อปี ตะกอนที่หายไปเพราะเขื่อนกักเก็บไว้ ส่งผลกัดเซาะหนักกว่าเดิม

ความรุนแรงของปัญหาการเปลี่ยนแปลง "ระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์" นั้น นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญยังระบุว่าอาจเกิดปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับเมืองชายฝั่งของบ้านเรา โดยยกตัวอย่าง กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นจากแผ่นดินทรุดและภาวะโลกร้อน ส่งผลต่อเมืองใหญ่แห่งนี้ เกิดปรากฏการณ์น้ำหนุนสูง มีน้ำทะเลเข้าท่วมถึงระดับหน้าอก ชาวบ้านที่นี่ก็พยายามปรับตัว ไม่ทิ้งพื้นที่

"ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 3 มิลลิเมตรต่อปี แต่จาการ์ตา 8 มิลลิเมตร ขณะที่ไทยระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์เพิ่มขึ้น 30 มิลลิเมตรต่อปี นับเป็นอัตราที่มากสุดในโลก ปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนสูงแบบนี้จะเห็นบ่อยขึ้นในบ้านเรา ขณะนี้แถบสมุทรปราการเจอปัญหาเดียวกัน แต่ยังไม่รุนแรงเท่าจาการ์ตา ซึ่งชุมชนริมชายฝั่งอย่าง จ.สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร ก็จะเผชิญสภาพอย่างนี้ เราจะเตรียมรับมือยังไง"

ทุกวันนี้ผลกระทบหลายอย่างปรากฏจากวิกฤติระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรงมากในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ทุกหน่วยงาน นักวิชาการ ตลอดจนชุมชนพยายามหามาตรการ วิธีการที่เหมาะสมในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ทำให้เกิดโครงการรูปแบบต่างๆ หลั่งไหลลงสู่พื้นที่ เมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีแนวคิดจะก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมแบบประเทศเนเธอร์แลนด์ จากกลุ่มของ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช และ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา โดยใช้ข้อมูลสตรอมเสิร์ช (Strom Surge) ที่จะพัดเข้ากรุงเทพฯ ทำให้น้ำทะเลท่วมเข้ามา 30 กิโลเมตร และข้อมูลระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นของแผนที่นาซา ที่จะทำให้น้ำทะเลท่วมตั้งแต่ 4-12 เมตร

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ในทัศนะของ ศ.ดร.ธนวัฒน์เห็นว่า การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่แบบเนเธอร์แลนด์ นอกจากจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อพื้นที่ชายฝั่งที่มีความอ่อนไหวสูงแล้ว เขื่อนยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหาดโคลน ทำให้หาดโคลนหายไป พูดถึงหาดโคลนถือเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์วัยอ่อนที่สำคัญที่สุดของอ่าวไทย เพราะมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีความสำคัญเป็นแหล่งห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศบกและทะเล

อีกทั้งยังเป็นที่ทำมาหากินของชุมชนประมงพื้นบ้านไม่น้อยกว่า 1 ล้านคนที่มีอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์และหาจับสัตว์น้ำชายฝั่งทะเล รวมไปถึงอาจจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายถิ่นของปลาทู การท่องเที่ยวเชิงนิเวศจัดโดยชุมชน เรียกได้ว่ากระทบโดยตรงต่อวิถีชุมชนประมงพื้นบ้าน เป็นความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้เลย ฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันปัญหาต้องมีการเข้าใจในพื้นที่ และเชื่อมโยงระบบนิเวศกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน โดยใช้ข้อมูลที่ต้องศึกษาอย่างจริงจัง

ความผิดปกติของระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น ผลกระทบในพื้นที่ชายฝั่งที่เริ่มปรากฏให้เห็น และสิ่งที่นักวิชาการคาดการณ์ถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 50 ปี 100 ปี เราจะแตกตื่นหรือเตรียมรับมือก่อนสถานการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นจริง ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกหน่วยงานต้องตระหนัก แม้หลายคนจะมองเป็นเรื่องไกลตัว แต่การรู้เท่าทันทำให้เราปรับตัวและวางแผนเพื่อความอยู่รอดได้ เพราะภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อนคงไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป



ขอบคุณ environNET.in.th ดำเนินงานและจัดทำภายใต้การดูแลโดย
ศูนย์สารสนเทศสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

Visitors: 140,733